สนธิ ลิ้มทองกุล (7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 — ) เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ ผู้ดำเนินรายการกลางแจ้ง เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์ซุปเปอร์บันเทิง อดีตผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางช่อง 9 อสมท. และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
เดิมเขาเคยเป็นผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อย่างแข็งขัน แต่ต่อมาเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านทักษิณ ช่วงต้น พ.ศ. 2549 สนธิเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำการชุมนุมขับทักษิณ ชินวัตรจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนยุติบทบาทหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ซึ่งโค่นรัฐบาลทักษิณ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 สนธิออกนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้งในการประท้วงขับทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่ง หลังรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเข้าฝ่ายทักษิณชนะการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป โดยนำกลุ่มพันธมิตรฯ ปะทะกับกำลังความมั่นคง ตลอดจนยึดทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ สนธิเป็นผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อยู่บ้าง และยุติการประท้วงของกลุ่มหลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ประมาณเดือนเมษายน 2552 สนธิถูกมือปืนลอบยิง สนธิมีบาดแผลสาหัสที่ศีรษะแต่ยังมีสติ ก่อนถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อการผ่าตัดฉุกเฉิน ไม่ทราบว่าผู้ใดอยู่เบื้องหลัง แต่บุตรของสนธิและโฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ สังเกตว่ากลุ่มแยกของทหารหรือตำรวจอาจอยู่เบื้องหลัง
สนธิ ลิ้มทองกุล (ชื่อเดิม ตั๊บ แซ่ลิ้ม) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่จังหวัดสุโขทัย ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำ บุตรของวิเชียร แซ่ลิ้ม อดีตสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง และผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยหว่างผู่ กับไชย้ง แซ่ลิ้ม ทั้งคู่มาตั้งรกรากทำกิจการโรงพิมพ์ และออกหนังสือพิมพ์จีน จำหน่ายให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร
สนธิจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา รุ่น 18 หลังจากจบจากโรงเรียนประจำที่อัสสัมชัญศรีราชา สนธิ ถูกส่งตัวไปเรียนภาษาจีนที่ประเทศไต้หวัน พร้อมกับเรียนวิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเป็นเวลาปีเศษ ก่อนที่จะไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ยูซีแอลเอ เมืองลอสแอนเจลิส ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยยูทาห์สเตต เมืองโลแกน รัฐยูทาห์ และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ ที่วิทยาลัยฮาร์ตวิคก์ เมืองโอนีโอนตา รัฐนิวยอร์ก และได้รับปริญญาสาขาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังจบการศึกษาได้ศึกษาต่อ MBA ที่ประเทศออสเตรเลีย ได้รับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต และได้รับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ การเมือง ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
สนธิสมรสกับจันทน์ทิพย์ ลิ้มทองกุล (ช่องดารากุล) ชาวจังหวัดตรัง เมื่อ พ.ศ. 2516 ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 9 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีบุตรคือ จิตตนาถ ลิ้มทองกุล ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารกิจการในเครือผู้จัดการ
สนธิทำงานเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย เมื่ออายุ 27 ปี จากนั้นได้ร่วมกับพร (หรือ พอล) สิทธิอำนวย ตั้งบริษัท Advance Media ในเครือพีเอสเอกรุ๊ป ออกหนังสือดิฉัน แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงได้ขายกิจการให้กับปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา สนธิกลับมาโดดเด่นอีกครั้งด้วยการตั้งบริษัท ตะวันออกแมกกาซีน ทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายเดือน เมื่อปี 2526 และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ จากความสำเร็จในการเป็นหนังสือแนวธุรกิจของผู้จัดการรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้สนธิ นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2533 ต่อมาหุ้น MGR ถูกตลาดหลักทรัพย์แขวนป้ายระงับการซื้อขาย เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 สนธิได้ส่งมอบการบริหารธุรกิจในเครือผู้จัดการให้กับจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชาย
สนธิ เคยเป็นที่ปรึกษากลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และอาจารย์พิเศษ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า Media Mogul หรือ Media Tycoon ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2546 สนธิได้เขียนข่าวทำนายว่าเงินดอลล่าร์สหรัฐจะตกต่ำในปี พ.ศ. 2553 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลดการส่งออก และขณะเดียวกันแนะนำให้ผู้คนลงทุน ด้วยการซื้อทองสะสมไว้
สนธิ ลิ้มทองกุล เคยอุปสมบท 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2541 ที่วัดป่าสามัคคีศิริพัฒนารา จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีพระครูปภัศรคุณ (หลวงปู่ญาท่าน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และนับตั้งแต่นั้นมา สนธิก็ได้ไว้ผมสั้นเกรียน และอีกครั้งที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระอุดมญาณโมลี เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ได้ฉายา สนฺตจิตฺโต หรือ ผู้มีจิตสงบ
ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นายสนธิขณะนั้นเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ได้เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อถ่ายรูปเหตุการณ์ โดยอ้างว่าเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ดาวสยามที่มีจุดยืนอยู่ข้างกลุ่มผู้ต่อต้านกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร และในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 นายสนธิได้พิมพ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับพิเศษ ขนาดแท็บลอยด์ออกเผยแพร่โดยไม่จำหน่ายภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้ผู้คนได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเรียกให้ออกมาชุมนุม จากนั้นนายสนธิได้อ้างว่าถูกคุกคามเอาชีวิตจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จึงได้เดินทางหนีออกนอกประเทศไป โดยมีความคิดถึงขั้นจะตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นที่ต่างแดนเพื่อต่อสู้ และก่อนออกเดินทางนายสนธิได้ออกเช็คฉบับหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชุมนุมด้วย
จุดเริ่มต้นของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 ในขณะนั้น รุ่นน้องของนายสนธิ ได้เข้าไปทำรายการชื่อ "เมืองไทยรายวัน" ณ โมเดิร์นไนน์ทีวี โดยนำเสนอเป็นรายการความรู้ ข่าวสาร และปกิณกะ อยู่ จนกระทั่งเกิดปัญหาทางด้านการเงิน ค้างชำระกับทาง โมเดิร์นไนน์ทีวี จนในที่สุดรายการก็ถูกถอดออก และรวมเวลาทั้งหมดไปออกอากาศในวันศุกร์แทน ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เมืองไทยรายสัปดาห์" เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 แต่ก็ยังคงนำเสนอเนื้อหาเดิมแบบเมืองไทยรายวัน จนกระทั่งทาง อสมท. ได้ปรับผังใหม่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 นายสนธิ ลงมาเป็นผู้ดำเนินรายการเอง ร่วมกับ พิธีกรสาว นางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์
ในเดือน กันยายน พ.ศ. 2548 หลังจากที่ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ระงับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และถูกฟ้องร้องโดยนายกรัฐมนตรีขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา เป็นจำนวนเงินรวม 2,000 ล้านบาท ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท และดูหมิ่น สนธิได้จัดรายการของตนเองขึ้นมาใหม่ ในชื่อว่า เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร โดยจัดเป็นเวทีนอกสถานที่ ณ หอประชุมเล็ก และ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ลุมพินีสถาน เวทีลีลาศ สวนลุมพินี ทุกคืนวันศุกร์ โดยเนื้อหาของรายการเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นการกล่าวถึงการคอรัปชันของนายกรัฐมนตรี รัฐบาล และเครือญาติมิตร เพียงอย่างเดียว ภายใต้สโลแกน "เราจะสู้เพื่อในหลวง" "ถวายคืนพระราชอำนาจ" และ "ขอเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน" ทำให้มีผู้สนใจเข้าชมรายการเป็นจำนวนมาก
รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ได้มีเก็บข้อมูลบทสนทนาในรายการที่ผ่านมาทั้งหมด รวมทั้งเสียงบันทึกรายการ ด้วยระบบออนไลน์ รวบรวมไว้ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ทำให้ผู้คนเข้าเว็บไซต์เพิ่มขึ้นประมาณเกือบสองเท่า จากประมาณ 80,000 เป็น 150,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ ได้มีการแจกฟรีซีดีบันทึกเสียงจากรายการที่ผ่านมา ให้แก่ประชาชนทั่วไป ที่บริเวณหน้าวัดพระแก้วและบริเวณต่างๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ และจัดจำหน่ายวีซีดีบันทึกภาพงาน และเสื้อเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร
ปลายปี พ.ศ. 2548 ทักษิณได้ฟ้องร้องต่อนายสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, นางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการร่วม เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร และพวก เป็นจำนวนเงินสูงถึง 2,000 ล้านบาทและตามมาด้วยคดีอาญามากมาย เพื่อให้หยุดการกล่าวหาเกี่ยวกับ "ปฏิญญาฟินแลนด์" โดยจุดนี้ทำให้ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก (World Press Freedom) ที่จัดอันดับโดย องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ตกลงจากอันดับ 59 ไปที่อันดับ 107
นักวิจารณ์หลายคนให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายสนธิ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลประโยชน์ของประชาชน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ทาง พต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า พรรคไทยรักไทย ได้ดำเนินการสั่งให้ทนาย คือ นายธนา เบญจาธิกุล ไปที่ศาลอาญาและศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ดำเนินการถอนฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกทั้งหมด และทางนายสนธิเองก็มิได้ฟ้องกลับแต่อย่างใด
สนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกคน มีกำหนดการที่จะเดินขบวนต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ในวันนั้นเอง ก่อนที่จะมีเดินขบวน ปรากฏว่ามีข่าวลือว่าจะมีเหตุการณ์นองเลือด อย่างไรก็ตาม วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ และยุบสภา และยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกเนรเทศออกไปอย่างไม่มีกำหนด และสมาชิกหลายคนในคณะรัฐมนตรีของเขาถูกเรียกตัวไปสอบสวน แกนนำพันธมิตรจึงประกาศยกเลิกกรประท้วงในครั้งนั้น และประกาศสลายตัวไประยะหนึ่ง
สนธิสนับสนุนการรัฐประหาร และหลังจากนั้นเดินทางไปทัวร์ยัง ลอนดอน วอชิงตัน ดี.ซี. และนิวยอร์ก เพื่อไปเฉลิมฉลองกับพันธมิตรฯ ที่อยู่ต่างประเทศ ในระหว่างที่เขาเดินทางนั้น เขายังได้เพิ่มเงินกองทุน IPO เพื่อธุรกิจดาวเทียมของเขาด้วย และชี้แจงว่าเขาได้ใช้เงินเกือบ 420 ล้านบาทที่ได้มาจากการประท้วงของพันธมิตรฯ เขาประกาศทีหลังว่าจุดเน้นทางการเมืองของเขานั้น จะเป็นการให้การศึกษากับสงคมไทยเกี่ยวกับสิ่งที่ พ.ต.ท. ทักษิณเคยสร้างความเลวร้ายกับประเทศในช่วงที่ยังบริหารประเทศ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ สนธิจัดรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่รับเงินบริจาคจากกลุ่มพันธมิตรฯ เขาประกาศว่าเขาจะยุติบทบาทต่อสาธารณะภายใน 5 ปี
เขาขอโทษ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ลูกพี่ลูกน้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในศาลทีหลังที่ไปกล่าวหาว่า ตระกูล "ชินวัตร" และ "ดามาพงษ์" ได้ปล้นชาติ ต่อมา พล.อ.ชัยสิทธิ์ถอนฟ้องสนธิ ศาลแถลงว่าโดยกล่าวหาทั้งตระกูลนั้น สนธิไม่สามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของระบบกฎหมายที่แปลกประหลาดของประเทศไทย
เป็นผลตอบแทนสำหรับสิ่งที่สนับสนุนเขา สนธิถูกเชิญโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ให้ไปออกรายการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทางช่อง 11
ผู้ประท้วงที่ต้อต้านรัฐบาลทหารเริ่มเคลื่อนไหวหลังเหตุการณ์รัฐประหารเพียงไม่กี่เดือน สนธิและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลทหาร และเรียกร้องให้กองทัพใช้สื่อของรัฐเพื่อเตือนให้ประชาชนรับรู้ถึงความชั่วร้ายของผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร
ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลาประมาณ 05.45 น. ขณะที่นายสนธิ กำลังเดินทางโดยรถส่วนตัว โตโยต้า เวลไฟร์ ไปยังสถานีโทรทัศน์ ASTV เพื่อจัดรายการในตอนเช้าเหมือนปกติ ได้มีกลุ่มคนไม่ทราบจำนวน ขับรถ อีซุซุ ดีแม็กซ์ 2 ประตู สีบรอนซ์ทอง ตามประกบ และได้ใช้อาวุธปืนยิงล้อรถของนายสนธิ ทำให้ยางล้อแตก แล้วใช้อาวุธปืนเอเค 47 เอชเค 33 เอ็ม 16 และเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 รัวยิงกระหน่ำเข้าไปในรถของนายสนธิ แล้วขับรถหนีไป โดยใช้ถนนเทเวศร์ เจ้าหน้าที่นับปลอกกระสุนปืนได้ 84 นัด และลูกระเบิดเอ็ม 79 ขนาด 40 มม. ที่ยังไม่ระเบิด 1 นัด
นายสนธิ ถูกกระสุนบริเวณคิ้ว, หน้าอก และแขน ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิระแต่อาการไม่บาดเจ็บมากนัก ส่วนนายอดุลย์ แดงประดับ คนขับรถคันดังกล่าว ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลมิชชั่น
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกพรรค เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร นายสนธิได้ประกาศว่าจะไม่เล่นการเมืองและไม่รับตำแหน่งทางการเมืองทั้งสิ้นตลอดชีวิตนี้ หากตระบัดสัตย์เมื่อไหร่ ให้แฟนรายการของตนที่เป็นผู้ชายถุยน้ำลายใส่หน้า ผู้ที่เป็นผู้หญิงถอดรองเท้าส้นสูงตบหน้าตนได้ทันที
วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 สนธิประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เพื่อกลับมาทำงานภาคประชาชนในฐานะแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเช่นเดิม
วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 9.00 นาฬิกา ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุธรณ์กรณีคดีหมายเลขดำ อ.1036/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร เป็นโจทก์ฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอื่นๆ โดยมี นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ. แมเนเจอร์ฯ และ น.ส.วยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539-วันที่ 31 มีนาคม 2540 จำเลยทั้ง 4 เป็นกรรมบริษัท แมแนเจอร์ มิเดีย กรุป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการโดยมีเนื้อหาความเท็จซึ่งมีมติให้เป็นทางบริษัท เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้กับบริษัท เดอะ เอ็มกรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 1 และ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539-18 พฤศจิกายน 2541 จำเลยทั้งยังร่วมกันกระทำการเปลี่ยนแปลงตัดทอนบัญชีให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และจำเลยทั้ง 4 ยังไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวซึ่งถือเป็นรายการที่ทำให้รายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพ จึงพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 85 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 4 กระทำความผิดรวม 13 กระทง ลงโทษกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 65 ปี
จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพเป็นโยชน์แก่การพิจารณาคดี ถูกลงโทษให้เหลือกึ่งเหลือ ยังคงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 42 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน จึงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 20 ปี จำเลยที่ 2 ไม่ติดใจอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ศาลชั้นต้น ฟังได้ว่าจำเลยที่1, 3, 4 ทุจริต อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้นในทุกๆประเด็น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายืน ก่อนควบคุมตัวนายสนธิไปใต้ถุนศาล ภายหลังที่ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของนาย สนธิ ลิ้มทองกุล ด้ยื่นหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์เดิม มูลค่า 10 ล้าน เพื่อขอปล่อยชั่วคราว โดยยื่นเรื่องให้กับศาลกีฎาแทน เป็นเหตุให้ นายสนธิ ต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเพื่อรอการพิจารณาจากศาลกีฎาล่าสุดศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องคำขอประกันตัวดังกล่าว โดยพิเคราะห์แล้วว่า นายสนธิพร้อมพวกได้ให้การรับสารภาพซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาจำคุกไว้แล้ว ประกอบกับคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง นอกจากนี้ นายสนธิกับพวกยังไม่รับรองฎีกา และยังไม่ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาในการต่อสู้คดีความ ซึ่งมีระยะเวลายื่นฎีกาอีก 30 วัน โดยศาลกีฎาคาดว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวอาจหลบหนีไปได้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว